วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555


                                                      ของแซบอีสาน (ผักขะแยง/ผักลืมผัว)
 
บทเพลงลูกทุ่งอมตะที่มีชื่อเพลงว่า อีสานบ้านเฮา ร้องโดย อ.เทพพร เพชรอุบล เนื้อเพลงว่า
           ...หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา แอ๊บๆ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้อนหวนๆ เขียดโม้เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน...
จากบทเพลงดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ  "(ผักขะแยง) ของแซบอีสาน"
 
 
ชื่อวงศ์ : SCROPHULARIACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limophila aromatica ( Lamk ) Merr
ชื่อพื้นเมือง : ผักกะแยง ผักลืมผัว(อีสาน)กระแยง (อุดรธานี) ผักพา (ภาคเหนือ) มะอม ปะกามะออม (เขมร) ขะแยง (อุบลฯ,มุกดาหาร)





ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ผักขะแยงเป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว เป็นผักที่ขึ้นเอง ตามคันนา ขึ้นในฤดูทำนา เริ่มจากฝนลงครั้งแรก ขยายพันธุ์แบบไหลไปตามราก เกิดและแตกต้นออกเป็นกอ ขนาดเล็กประมาณ ๓๐-๔๐ ซม. ลำต้นสีเขียว กลวงเห็นปล้องชัดเจน ลำต้นทั้งต้นจะมีกลิ่นหอมหรือกลิ่นฉุนรุนแรง ใบเป็น ใบเดี่ยว ขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ตรงกันหรืออาจมี ๓ ใบ ออกอยู่รอบ ๆ ข้อรูปใบหรือรูปขอบขนาน หรือรูปหอกใบยาว ๑.๕-๕ ซม. กว้าง ๑-๒ ซม. ไม่มีก้านใบฐานใบจะหุ้มลำต้นเอาไว้ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ด้านบนของใบมีต่อมเล็ก ๆ มากมาย ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตรงซอกใบ หรือออกเป็นช่อกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวมีขน กลีบดอกสีแดง สีชมพูอ่อน หรือสีม่วง กินได้ตลอดลำต้น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ผักขะแยงก็เริ่มโรยรา และหายลงใต้ดินในที่สุด รอวันฝน ลงอีกครั้งในพรรษาหน้า

ผักขะแยงชอบอยู่ตามดินดำและน้ำชุ่มชื่น ดังนั้นจึงสามารถนำผักขะแยงมาปลูกได้ในที่ๆมีน้ำขังตลอดปี ผักขะแยงก็จะสามารถขึ้นงอกงามได้ตลอดปีเช่นกัน แต่เพราะผักขะแยง เป็นผักที่ขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาลทำนา ชาวบ้านหลายท้องถิ่นทางภาคอีสานไม่นิยมนำมาปลูก พอถึงเวลาอยากกินก็จะไปเก็บเอาตามท้องไร่ท้องนา

แต่บางแห่งในภาคอีสานแถบลุ่มแม่น้ำโขง ก็นำมาปลูกตามริมบึง หรือแม้แต่ในกระถาง กะละมังแตก ใต้ถุนบ้านตรงที่ล้างผัก ล้างปลา เพื่อให้ขะแยงได้รับน้ำที่ไหลลงจากชานครัวอย่างเต็มที่ เพียงเท่านนี้ขะแยงก็จะงามสะพรั่งเอง บางแห่งก็มีการเก็บตามท้องไร่ท้องนามัดเป็นกำๆ แล้วนำไปขายในตลาดของหมู่บ้าน อำเภอ หรือในเมือง ส่วนทางด้านราคาก็จะถูกมาก ปัจจุบันเกษตรกรนำมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงมีผักขะแยงขายตามตลาด หรือแม้กระทั่งในกรุงเทพก็มีเช่นกัน

ผักขะแยงกินได้หลายแบบขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์ หรือความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ภาคอีสานตอนบนติดกับแม่น้ำโขง คือ จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย จะมีการกินผักขะแยงสด ซึ่งเป็นผักจิ้ม เช่นจิ้มน้ำพริก กินกับก้อยปลา ลาบ นำมาใส่ต้มหรือแกงปลา แกงหน่อไม้ใส่ย่านาง แกงหอยขมก็ได้ เพราะกลิ่นจะระงับกลิ่นคาวได้เป็นอย่างดี ส่วนอีสานตอนกลางเช่น ชัยภูมิ โคราช ขอนแก่น จะไม่นิยมนำมากินแบบสด ๆ
 
 

สรรพคุณทางยา


คั้นน้ำจากต้นเพื่อดื่มกิน (ลดไข้ได้) ส่วนลำต้นนิยมนำมาต้ม แล้วดื่มกิน ใช้เป็นเป็นยาขับน้ำนม ขับลม และเป็นยาระบายได้ ผักขะแยงมีรสเผ็ดร้อน มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ช่วยให้เจริญอาหาร

ผักขะแยง ๑๐๐ กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย ๓๒ กิโลแคลอรี่ มีเส้นใยอาหาร ๑๐๕ กรัม แคลเซียม ๕๕ มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๖๒ มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๖๒ มิลลิกรัม เหล็ก ๕๐๒ มิลลิกรัม วิตามินปีหนึ่ง ๐.๐๒ มิลลิกรัม วิตามิบีสอง ๐.๘๗ มิลลิกรัม ไนอาซิน ๐.๖ มิลลิกรัมและวิตามินซี ๕ มิลลิกรัม

 
 
 

การขยายพันธุ์ แยกกอ

การปลูก: เตรียมพื้นที่ปลูกลักษณะคล้ายกับแปลงนาข้าวเพื่อปักดำโดยการทำเป็นแปลงนาเล็กๆ ขนาดประมาณ ๑๐ x ๑๐ เมตร ไถดะหรือใช้จอบขุดพร้อมกับใส่ปุ๋ยคอก แล้วระบายน้ำเข้าหลังจากนั้นไถคลาด ใช้พันธุ์ที่เตรียมไว้มาดำลงในแปลงลักษณะคล้ายกับการดำนา ระยะปลูกประมาณ ๑๕ x ๒๐ เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ ๒-๓ วัน จึงทำการหว่านปุ๋ยเคมีสูตร ๑๖-๑๖-๘ หรือ ๑๕-๑๕-๑๕
โรคแมลงที่สำคัญ : มีน้อย เนื่องจากผักขะแยงมีกลิ่นฉุนทำให้แมลงไม่อยากเข้าใกล้

การเก็บเกี่ยว :หลังปลูก ๒๐-๓๐ วัน ก็เก็บเกี่ยวได้ โดยวิธีการถอนแยกปล่อยส่วนโคนและรากให้เหลือติดไว้กับดิน หลังจากนั้นก็จะหวานปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตร ๑๖-๑๖-๘ หรือ ๑๕-๑๕-๑๕ แล้วให้น้ำขังระดับน้ำเหนือผิวดินประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร ภายในระยะเวลา ๑-๒ สัปดาห์ก็สามารถเก็บเกี่ยวครั้งต่อไปได้
 
ประโยชน์ทางอาหาร:รับประทานทั้งลำต้น จะได้รับประโยชน์ทางโภชนาการสูง








 
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก
http://www.esanclick.com/newses.php?No=4176